ตามหาคนหาย

เมื่อผู้มีอำนาจใช้สิ่งที่มีกำจัดคนเห็นต่างด้วยความเลือดเย็น เราประชาชนก็ต้องออกตามหาความยุติธรรมให้พวกเขากันเอง

โดย กลุ่มพสุวิทศิษย์ประชาธิปไตย @psuwitndemo


1. เตียง ศิริขันธ์

เตียง ศิริขันธ์ (5 ธันวาคม พ.ศ. 2452 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2495) เป็นนักการเมืองฉายา "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ซึ่งประกอบด้วยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง นายเตียงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร 5 สมัย ตั้งแต่อายุ 28 ปี รัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสานและสกลนครโดยมีศูนย์บัญชาการอยู่บนเทือกเขาภูพาน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ "ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง"

เตียง ศิริขันธ์ ถูกฆ่ารัดคอและเผาศพทิ้งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2495 ในสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหาร มีผู้ถูกฆ่าในครั้งนั้น ได้แก่ ชาญ บุนนาค เล็ก บุนนาค ผ่อง เขียววิจิตร และ สง่า ประจักษ์วงศ์ โดยศพถูกนำไปเผาทิ้งที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี


2.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา

หะยีสุหลง ได้เกี่ยวพันกับทางการเมืองและความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร เมื่อเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่ให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อรัฐบาลไทยที่มีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2490 แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปลายปีเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นขั้วของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากขั้วอำนาจเดิม ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ ของหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จนในที่สุดถูกจำคุกในข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหะยีสุหลงถูกจัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน ศาลพิจารณาให้ยก
เมื่อพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากทางอำนาจรัฐ จนกระทั่งในเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หลังจากเสร็จจากละหมาดในตอนเช้าแล้ว หะยีสุหลงพร้อมกับ นายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย เนื่องจากหะยีสุหลงไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน รวมเป็น 4 คน ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย นำมาซึ่งความเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้การบัญชาการของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ซึ่งเป็นเสมือนมือขวาสำคัญของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องราวการหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นข่าวอย่างครึกโครม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์

ทางครอบครัว ภริยาและนายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อติดตามเรื่องราว ก็ไม่ได้ความคืบหน้าใด ๆ แต่ก็ได้รับทราบเพียงว่าเป็นการฆาตกรรมทางการเมืองโดยบุคคลของภาครัฐเองจากปากคำของท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของจอมพล ป. จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้เปลี่ยนขั้วอีกครั้งเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี พลตำรวจตรีฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน ในที่สุดนายตำรวจผู้ที่ลงมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ก็รับสารภาพว่าได้สังหารบุคคลทั้ง 4 ในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลา จากคำสั่งโดยตรงทางโทรศัพท์ของรัฐบาลในขณะนั้น ผ่านทางผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสงขลา ด้วยการใช้เชือกรัดคอและคว้านท้องศพทั้งหมดและอำพรางด้วยการนำศพไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ในทะเลสาบสงขลา ใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว ซึ่งเมื่อทุกอย่างกระจ่างได้มีการส่งนักประดาน้ำลงไปงมหาศพ แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีจากที่เกิดเหตุ ทำให้ไม่พบศพหรือเศษซากใด ๆ อีกแล้ว


3. ทนง โพธิ์อ่าน

ทนง โพธิ์อ่าน มีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงาน และการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้า รสช. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณะจันทร์ ผู้บัญชาการทหารทหารเรือ, พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี โดยคณะ รสช. ให้เหตุผลในการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ 1) พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2) ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3) รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4) การทำลายสถาบันทางทหาร 5) การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

เพียง 3 วัน ภายหลังการรัฐประหาร, คณะ รสช.ได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้ชี้แจง และในการชี้แจงครั้งนี้ พลเอกสุจินดาได้กล่าวว่า "ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร"

ในขณะที่ทนง ได้กล่าวโจมตีคำชี้แจงของพลเอกสุจินดา คราประยูร ว่า “เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้”

ไม่นานนัก, คณะ รสช.ได้ใช้อำนาจในการกดกระแสการเรียกร้องสิทธิแรงงาน และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. ด้วยการประกาศว่า จะดำเนินมาตรการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน โดยในเดือนเมษายน 2534 มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และตราพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534

ทนงได้คัดค้านมาตรการดังกล่าว เขาเห็นว่า รสช. ต้องการแยกสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนและกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนตอบโต้ ว่า "ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่" นอกจากนี้ เขายังประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน

ทนงได้เรียกประชุมสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้ต่อคณะ รสช.ในประเด็นการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ภายหลังการประชุมเขาได้แสดงทัศนะอย่างแข็งกร้าวต่อคณะ รสช.ว่า

"ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กับกรรมกร ด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 และขอฝากเตือนถึงบิ๊กจ๊อด อย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรเป็นทุกข์ ดังนั้นควรทำอะไรให้รอบคอบ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่"

จากความเคลื่อนไหวของกรรมกร พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้กล่าวว่า

"ถ้ามีการเคลื่อนไหวของคนงานในการคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สภา รสช.มีมาตรการอยู่แล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าจะทำอะไรเรามีแผนตลอด "

เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก มีข่าวการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรในตอนค่ำ คณะ รสช.มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ

นายทนง ประกาศว่าจะจัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ 12กรกฎาคม 2534 เพื่อคัดค้านคำสั่ง รสช.ที่ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและคำสั่งฉบับที่ 54 ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกรรมกรภาคเอกชน ห้ามบุคคลภายนอกเป็นที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงาน

ด้วยความที่ทนง เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (ICFTU) การเคลื่อนไหวของทนงจึงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในบทบาทฐานะที่ทนงเป็นตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล ทำให้ทนงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ พลเอกสุจินดา คราประยูร รองประธานสภา รสช.เคยกล่าวว่า "ผู้นำแรงงานบางคนตัวเป็นไทย แต่ชอบทำตัวเป็นทาส เป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน”

ซึ่งทนงก็ตอบโต้พลเอกสุจินดาว่า “ในฐานะกรรมกรและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก การหนุนช่วยทางสากลนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากจะไม่ให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ทำเสียให้ถูกต้อง”

ต่อมา นายทนง โพธ์อ่าน จะได้เป็นผู้แทนคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ( International Labour Organization :ILO) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในระหว่างวันที่ 3 -27 มิถุนายน 2534

เขาประกาศว่า จะนำเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนงานไทยไปกล่าวในที่ประชุม ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามมิให้ทนง เดินทางไปร่วมประชุม เพราะเกรงว่าจะนำเรื่องการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ไปประณามกลางที่ประชุม ทนงจึงร้องเรียนไปยัง ICFTU และทาง ICFTU ได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน จนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้ยืนยันให้ทนง โพธิ์อ่าน เดินทางไปในวันที่ 20 มิถุนายน 2534

และแล้ววันที่ 19 มิถุนายน 2534 เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ หลังจากที่ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 จ.-6611 กทม. ออกจากบ้าน โดยรถถูกจอดทิ้งไว้กับทางเท้าหน้าสหภาพฯขนส่งสินค้าออก ท้ายรถโผล่ออกมาและไม่ได้ล็อกรถไว้ !!!

Source: https://prachatai.com/journal/2014/06/54093


4. มะยูนิต โลนียะ

นายมะยูนิต โลนียะ เป็นผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมในปี 2547 เพื่อให้ถูกลบชื่อจากบัญชีดำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2550 เขาได้รับเชิญให้ไปพบกำนันคนหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส หลังออกจากบ้านพร้อมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและนายก อบต. ทั้งหมดรวม 8 คน เขาก็หายตัวไป

โครงการเชิญบุคคลมารายงานตัวและเข้ารับการอบรม เป็นยุทธวิธีของฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่หลังเหตุความรุนแรงเริ่มเมื่อปี 2547 กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยแสดงตน จุดประสงค์หลักของนโยบายเชิญตัว คือการจัดเก็บข่าวกรอง

ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญเข้าร่วมอบรมแบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากแสดงตน จะได้รับสิทธิประกันตัว สามารถเข้าถึงทนาย ผู้ต้องสงสัยกลุ่มที่สอง คือผู้ที่ถูกทางการจับตาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ อาจมีการออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกเขาจะถูกบังคับให้เข้ารับการอบรมเป็นเวลาหนึ่งเดือน กลุ่มที่สาม คนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของรัฐบาล โดยถือว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือมีใจฝักใฝ่ฝ่ายก่อความไม่สงบ แต่ไม่ปรากฏการกระทำความผิดอาญามาก่อน และยังไม่มีหมายจับ กลุ่มนี้จะถูกควบคุมตัวเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 7-10 วัน

เมื่อผู้ต้องสงสัยถูกปล่อยตัว พวกเขาจะถูกติดตามการเคลื่อนไหว และได้รับการร้องขอให้ช่วยสนับสนุนข้อมูลกับทางการ

//หลังจากนี้ไม่พบข้อมูลใดๆเกี่ยวกับการหายตัวไปของเขาอีก


5. กมล เหล่าโสภาพันธ์

นายกมล ถูกอุ้มหายหลังพบเห็นการทุจริตการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ย่านสถานีรถไฟบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว แต่ผู้กำกับการสถานีตำรวจบ้านไผ่ในขณะนั้นกลับเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความ และให้นายกมลหยุดการตรวจสอบทุจริต ทำให้นายกมลแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กำกับการในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก่อนถูกอุ้มหาย โดยคดีไม่มีความคืบหน้า


6. สมชาย นีละไพจิตร

สมชาย เป็นอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

สมชายมักทำคดีด้านสิทธิมนุษยชนที่ทนายความส่วนมากปฏิเสธ เช่น คดีที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ คดีคนพม่าลี้ภัยการเมือง คดีชาวอิหร่านที่ถูกจับในข้อหาเป็นผู้วางระเบิดสถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย

สมชายเคยร่วมกับองค์กรมุสลิมต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้ง ชมรมสมาชิกรัฐสภาไทยมุสลิม เสนอแนวทางในการแก้ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และในเวลาเดียวกันก็เรียกร้องขอความเป็นธรรม ในการสอบสวน 5 ผู้ต้องหา ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน ซึ่งสมชายได้ยืนยันว่าได้พบกับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้ความว่า ทั้งหมดไม่ได้กระทำความผิด แต่จำต้องรับสารภาพ เนื่องจากถูกตำรวจขู่เข็ญทำทารุณกรรม ซึ่งกรณีนี้สร้างความอับอายให้กับกระบวนการสืบสวนสอบสวนของรัฐเป็นอันมาก


7. บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

บิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง หายตัวไปนาน 5 ปี ล่าสุดเจ้าหน้าที่พบโครงกระดูกของเขาใกล้ถังน้ำมัน ในสภาพที่ถูกเผาอำพราง ท่ามกลางปริศนาว่าใครเป็นคนฆ่า?

บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเป็นหลานชายของ ‘ปู่คออี้’ ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัด เพชรบุรี เขาเติบโตขึ้นมาโดยเป็นที่ไว้วางใจของคนในหมู่บ้านในเรื่องการช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชน บิลลี่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และออกมาช่วยชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิชุมชน โดยหลายกรณีมันคือความขัดแย้งที่ชาวกะเหรี่ยงต้องสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในประเด็นที่อยู่อาศัย-การไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน โดยชาวกะเหรี่ยงกับรัฐนั้น มีเรื่องระหองระแหงกันในประเด็นที่ดินและที่อยู่อาศัยกันมาอยู่เสมอๆ

หนึ่งในกรณีสำคัญ คือ การที่เขาเตรียมจะฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้ามารื้อที่อยู่อาศัยและทำให้ทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวต้องเสียหายไปเมื่อปี 2554

“พี่บิลลี่เคยบอกว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเดินทางออกมาจากป่าเด็งมาถึงบางกลอยแล้วเขาหายไป ไม่ต้องเป็นห่วงเขานะ ไม่ต้องตามหาเขานะ ให้รู้เลยว่าเขาถูกฆ่าตาย เขาพูดให้ฟังนะ เพื่อนสนิทเขาก็พูดให้ฟังอย่างนี้” มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่เคยเล่าเอาไว้

บิลลี่หายตัวไปในวันที่ 17 เมษายน 2557 เช้าวันนั้นเขาเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวไป แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหนต่อ

รายงานของ ThaiPBS ระบุว่า ในวันต่อมา ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้เข้าแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ตรวจสอบพบว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเอาไว้จริง แต่ก็ได้ปล่อยตัวไปแล้วตามปกติ

“ต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำตัวบิลลี่ไปและยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง โดยให้เหตุผลว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว” รายงานของ ThaiPBS ระบุ

หลังจากบิลลี่หายตัวไป ทางครอบครัวก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับบิลลี่ ทั้งไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ให้ไต่สวนกรณีควบคุมตัวบิลลี่ขัดกับหลักกฎหมาย (ในตอนนั้นครอบครัวเชื่อว่า บิลลี่ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกควบคุมตัวเอาไว้) อย่างไรก็ดี ศาลได้ยกคำร้องเรื่องการควบคุมตัวบิลลี่ไปในวันที่ 2 กันยายน 2557

หลังจากนั้น การหายตัวไปของบิลลี่ก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่ทางครอบครัวก็ยังไม่ยอมแพ้ และพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบิลลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ภรรยาของบิลลี่ที่เดินทางไปยื่นหนังสือต่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงองค์กรและสถานทูตต่างประเทศ

“หนูไปยื่นหนังสือหลายครั้งจนจำไม่ได้ น่าจะมากกว่า 10 ครั้ง ไปหลายที่ด้วย ยูเอ็นก็เคยไปสถานฑูตเยอรมันก็เคยไป ที่สถานฑูตเยอรมันไปมาแล้ว 2 ครั้ง ไปเรียกร้องว่าคดีไม่คืบหน้า ก็ไปขอให้เขาช่วยกระตุ้นให้หน่อย ให้ผลักดันให้หน่อย” Thaipublica รายงานถึงคำพูดของมึนอ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2561 เมื่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น ‘คดีพิเศษ’ ขณะที่องค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคมก็ยังคงจับตาการสอบสวนคดีนี้อย่างต่อเนื่อง

องค์กรด้านสิทธิเรียกการสูญหายไปของบิลลี่ว่าเป็น ‘การถูกบังคับให้สูญหาย’ (forced disappearance) ซึ่งมีนัยของการที่บุคคลหนึ่งถูกอุ้มหายไปจากสังคม ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่ร้ายแรง

การแถลงข่าวของ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อบ่ายวันที่ 3 กันยายน ได้ยืนยันว่า พบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมัน โดยกระดูกส่วนที่เป็นกระโหลกนั้นมีรอยไหม้และรอยแตกร้าว

เจ้าหน้าที่ยืนยันด้วยว่า กระดูกนี้เป็นของบิลลี่จริงๆ เพราะได้ตรวจสอบ DNA จากกระดูกแล้วเรียบร้อย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเขาตายเพราะสาเหตุอะไร “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” เจ้าหน้าที่กล่าวในงานแถลงข่าว


คดีการหายสาบสูญของบิลลี่ สะท้อนให้เราเห็นความน่ากลัวของการอุ้มคนให้หายไปจากสังคม เป็นบทเรียนที่เราได้เข้าใจเช่นเดียวกับการหายตัวไปของทนาย สมชาย นีละไพจิตร

Source: https://thematter.co/brief/recap/recap-1567497600/84145


8. วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋

อดีตผู้สื่อข่าวคนดังที่หลบลี้หนีภัยไปต่างแดนออกมาบอกว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกไปดักรอโกตี๋ถึงหน้าบ้านพัก พร้อมเครื่องช็อตไฟฟ้า ก่อนจะอุ้มหายไป และอ้างว่ามีการอุ้มตัวเข้ามาประเทศไทย

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ เริ่มต้นตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า “ผมเห็นเพียงภาพถ่ายที่ส่งกันมาเท่านั้น ยังไม่ได้รับการรายงานเรื่องดังกล่าว และภาพที่เผยแพร่กันอยู่นั้น มาจากที่ใดก็ยังไม่ทราบ”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็บอกว่า ไม่ทราบ รวมถึงข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าถูกอุ้มหายไปนั้น ตนก็ไม่ทราบ เพราะนายวุฒิพงศ์ไม่ได้อยู่ประเทศไทย เขาอยู่ดินแดนลาว แต่เจ้าหน้าที่ไทยได้ประสานกับทางการลาว ซึ่ง สปป.ลาว ไม่รายงานอะไรมา เขาบอกว่าไม่รู้เรื่องเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีคนที่ไม่เชื่อว่าตายจริง อย่าง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยัน ก็ยังยึดถือตามเดิม ซึ่งเขาอาจจะหลบตัวไปเฉยๆ ภาพบางภาพที่มาที่ไปอาจจะมีการตกแต่งหรือทำอะไรขึ้นมาก็ได้ หากทางการลาวยังไม่ได้ยืนยันมา เราก็จะต้องพิสูจน์ทราบกันต่อไป

นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ เกิดเมื่อปี 2512 ที่จังหวัดปทุมธานี เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มปทุมธานีรักษ์ประชาธิปไตย ในปี 2552 เพื่อต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเป็นดีเจวิทยุเสื้อแดง สถานีวิทยุประชาชน เอฟเอ็ม 104.10 คลองสาม ปทุมธานี เป็นเจ้าของสถานีวิทยุเพื่อมวลชน เรดการ์ด เรดิโอ และแกนนำ นปช.ที่มีบทบาทในจังหวัดปทุมธานี

โกตี๋ นับได้ว่าเป็นกลุ่มแดงฮาร์ตคอร์ ในระดับเดียวกับกลุ่มของนายขวัญชัย สารคำ ประธานชมรมคนรักอุดร สร้างผลงานเข้าตานายใหญ่ จากการนำมวลชนเสื้อแดงปฏิบัติการร่วมล้มการประชุมอาเซียน ซัมมิต ที่พัทยา เมื่อปี 2552 แต่หลังจากการปฏิบัติการกระชับพื้นที่ที่สี่แยกราชประสงค์ของกองทัพ ในปี 2553 จึงทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงต่างๆ รวมถึงกลุ่มของโกตี๋ต่างกระจัดกระจายกันไป

ต่อมาในปี 2554 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณได้เป็นรัฐบาล โกตี๋จึงได้เข้ามาจัดวิทยุของคนเสื้อแดงอีกครั้ง พร้อมกับตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้นใน จ.ปทุมธานี โดยที่ไม่ได้ขึ้นกับกลุ่ม นปช.แต่อย่างใด

ที่ผ่านมา โกตี๋ มีแนวร่วมให้ความช่วยเหลือหลายคน ตั้งแต่กลุ่มคนทางการเมือง หรือ แนวร่วมเสื้อแดง แต่ในระดับแกนนำ เขากลับถูกปฏิเสธ เพราะบอกว่า นปช. ไม่นิยมความรุนแรง ทั้งนี้ปัจจุบัน โกตี๋ ถูกออกหมายจับในคดีอาวุธปืนสงคราม นอกจากนี้ยังมีคดีหมิ่นสถาบันด้วย

ข่าวลือดังกล่าวจะจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ หากเขายังมีชีวิตอยู่ ไม่ช้าก็จะปรากฏตัว แต่หากว่าแดดิ้นไปแล้ว ไม่ช้าไม่นานก็จะเจอศพอยู่ดี ไม่ว่าศพนี้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม.

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนิยมความรุนแรงหรือทำอะไร เขาก็ไม่ควรที่จะมาถูกอุ้มหายอย่างนี้


9. อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจซุนโฮ

อิทธิพล สุขแป้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ที่ลี้ภัยอยู่ลาว หายตัวไปตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 ในตอนนั้น ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข่าวสารความเคลื่อนไหว กรณี อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ นั้น ทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายตำรวจ รับทราบเบื้องต้นว่า ฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 36 (มทบ.36) จ.เพชรบูรณ์ ก็ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้แต่อย่างใด


10. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองยาวนานตั้งแต่เข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2519 ก่อนจะออกจากป่ามาเป็น “ทูตสันติภาพ” ทำหน้าที่เจรจาระหว่างทางการไทยกับพคท. และถูกจับกุมตัว สุรชัยถูกคุมขังถึง 16 ปีก่อนจะถูกปล่อยตัวในพ.ศ. 2539 และต้องมาติดคุกอีกครั้งระหว่าง 22 ก.พ.54 – 4 ต.ค. 56 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

สุรชัยหายตัวไปจากบ้านพักในลาว ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง ซึ่ง 2 คนนี้ ต่อมาพบศพในแม่น้ำโขงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนสุรชัยยังคงสูญหาย ขณะที่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ภรรยาของสุรชัย กล่าวว่าเชื่อว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วและคาดว่าศพถูกทำลาย


11. ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ภูชนะ

ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม ภูชนะ จบปริญญาตรีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน กว่าจะมาเป็นนักเคลื่อนไหวการเมือง เป็นผู้ลี้ภัย เป็นดีเจวิทยุใต้ดิน และได้กลายเป็นศพที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำโขง ชัชชาญเคยทำอาชีพด้านช่างรับเหมา และรับติดตั้งจานดาวเทียมให้กับช่องเสื้อแดง นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของขบวนการเสื้อแดง ชัชชาญเคยลงเป็นผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น และช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับ ส.ส. ในพื้นที่ภาคอีสานหลายครั้ง หลังรัฐประหาร ชัชชาญมีชื่อถูกเรียกตัวเข้าพบ คสช. ชัชชาญตัดสินใจลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

หลังลี้ภัยออกนอกประเทศ ชัชชาญยังคงติดต่อกับครอบครัวอยู่ จนวันที่ 12 ธันวาคม ชัชชาญบอกกับบุตรชายทางไลน์ว่าตนจะไม่อยู่เป็นเวลา 3 วัน แต่หลังจากนั้น 3 วันก็ยังไม่มีการติดต่อมาอีก ลูกชายของชัชชาญโทรศัพท์หาบิดาอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 เนื่องจากวันนั้นเป็นวันเกิดของชัชชาญ แต่ไม่มีคนรับสาย ลูกชายของชัชชาญจึงเริ่มเกิดความกังวล ต่อมา ลูกชายของชัชชาญได้รับข่าวว่านักกิจกรรมทางการเมืองหายตัวไปหลังลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ จนช่วงก่อนปีใหม่ ลูกชายของชัชชาญจึงได้รับข่าวว่าพบร่างผู้เสียชีวิต 2 ศพลอยอยู่ที่แม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดนครพนม และได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดี


12. ไกรเดช ลือเลิศ หรือ กาสะลอง

กาสะลอง เป็นทีมงานถ่ายทอดสดการชุมนุมและเวทีเสวนาต่างๆ ทั้งของกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มนักวิชาการมาตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 ในเวลานั้นพื้นที่เว็บไซต์ต่างๆ ถูกปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็น และเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์กำลังเฟื่องฟู

กาละลอง หายตัวไปพร้อมกับภูชนะ และสุรชัย แซ่ด่าน ในช่วงวันที่ 12-13 ธันวาคมปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเดินทางไปประชุม ไทย-ลาว ของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ที่นครเวียงจันทร์

จากนั้นมีรายงานการพบศพในแม่น้ำโขงในวันที่ 26, 27 และ 29 ธันวาคม อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดมีเพียง 2 ศพที่เหลืออยู่และได้รับการพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อยืนยันตัวตน คือ กาสะลองและภูชนะ

การฆาตกรรมครั้งนี้เป็นเรื่องสะเทือนขวัญ สภาพศพทั้งหมดถูกฆ่าโหดเหี้ยม ลำคอถูกรัดด้วยเชือกป่านขนาดใหญ่ ถูกของแข็งทุบหน้าจนเละ คว้านท้องจนไม่เหลือเครื่องใน ยัดด้วยเสาปูนยาว 1 เมตร เพื่อให้มีน้ำหนักถ่วงน้ำ ใส่กุญแจมือไขว้ด้านหน้า ห่อด้วยกระสอบป่านเย็บติด 2-3 กระสอบ หุ้มด้วยตาข่าย


13. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง

ชูชีพ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “ลุงสนามหลวง” เป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ ในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวต่อต้านรัฐประหาร คมช. ปี 2549 และเป็นศัตรู (ทางความคิด) ลำดับต้นๆ ของฝ่ายความมั่นคงไทย ในเดือนสิงหาคม 2551 ศาลอาญาออกหมายจับชูชีพในความผิดตามมาตรา 112 คาดว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่นั้น

ชูชีพประกาศยุติการจัดรายการในเดือนมกราคม 2562 หลังการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคนที่เคยจัดรายการในYouTube ต่อมา ในวันที่ 9 พ.ค.2562 มีข่าวว่าชูชีพถูกจับกุมตัวในเวียดนามและส่งตัวกลับไทยพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศหรือการจับกุมตัวทั้งสามคน และความพยายามของครอบครัวของสยามที่จะตามหาทั้งสามคนก็ยังไม่เป็นผล


14. สยาม ธีรวุฒิ

สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในระหว่างเป็นนักศึกษา เขาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประกายไฟ ต่อมาได้ร่วมแสดงในละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งทำให้สยามและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่างภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 จนต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นคดี 112 หลังการรัฐประหาร 2557 สยามจึงเดินทางออกจากประเทศ

สยามหายตัวไประหว่างลี้ภัยในเวียดนาม หลังจากอยู่ลาวมาหลายปี โดยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวว่าสยาม พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด ถูกจับกุมและส่งตัวกลับไทย ครอบครัวของสยามเดินสายยื่นจดหมายถึงองค์กรต่าง ๆ ให้ช่วยตามหา แต่ก็ยังไม่พบร่องรอย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางการเวียดนามยังแจ้งครอบครัวของสยามว่าไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศของสยามและพวกหรือข้อมูลการส่งตัวกลับไป ซึ่งน้องสาวของสยามบอกว่าทางครอบครัวกำลังตามหาข้อมูลการติดต่อกับสยามเพื่อยื่นเป็นหลักฐานเพิ่มเติมให้องค์กรที่ทางครอบครัวได้ไปขอความช่วยเหลือ

Source: https://prachatai.com/journal/2019/08/83908


15. กฤษณะ ทัพไทย

กฤษณะ หรือ “สหายยังบลัด” เป็นอีกหนึ่งผู้ลี้ภัยที่หายตัวไปพร้อมกับสยาม ธีรวุฒิ และลุงสนามหลวง เราไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฤษณะมากนัก นอกจากว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่พบร่องรอยของเขา

Source: https://prachatai.com/journal/2019/08/83908


16. วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชื่อเล่นว่า "ต้าร์" ปัจจุบัน อายุ 37 ปี ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า "Wanchalearm Satsaksit" สถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง หลังจาก 8 มิถุนายน 2557 หรือหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

วันเฉลิม ทำงานเป็น NGO เกี่ยวกับเยาวชนด้านเอชไอวี/เอดส์ และเป็นแอดมินเพจ "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ" เมื่อครั้งเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553

นายวันเฉลิม ปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวตาม "คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" หลังรัฐประหาร โดยเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกคสช.เรียกให้ไปรายงานตัว จึงมีการออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และยังรวมไปถึงหมายจับคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2561 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด และยังเป็น 1 ใน 14 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2558 ด้วย

ในวันที่ 4 มิถุนายน แหล่งข่าวได้เผยว่าวันเฉลิมถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดฯ ที่พักอาศัย ในกรุงพนมเปญเมื่อเวลา 17.54 น. ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดฯ แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยายามเข้าไปช่วย แต่กลุ่มคนที่มาอุ้มมีอาวุธปืนด้วย

แหล่งข่าวคนเดิมเล่าด้วยว่า ขณะเกิดเหตุเขาโทรศัพท์คุยกับวันเฉลิม โดยเสียงสุดท้ายที่ได้ยินจากวันเฉลิมผ่านโทรศัพท์คือ "โอ๊ย หายใจไม่ออก" ก่อนสายจะตัดไป แต่ในขณะนั้นเขาเข้าใจว่าเกิดอุบัติเหตุ และวันเฉลิมบาดเจ็บ จึงพยายามโทรกลับไปถามอีกประมาณครึ่งชั่วโมง รวมทั้งติดต่อเพื่อนของวันเฉลิมให้ช่วยตรวจสอบที่คอนโดฯ จึงทราบว่าวันเฉลิมหายไป

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Human Rights Watch ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการลักพาตัววันเฉลิมและเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาออกมาชี้แจงเรื่องนี้ทันที แถลงการณ์ระบุว่า "กรณีการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยในกรุงพนมเปญ เป็นเรื่องที่ทางการกัมพูชาต้องออกมาชี้แจงโดยทันที" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวพร้อมกับเรียกร้องให้สืบสวนและตามหาตัววันเฉลิมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าเขาปลอดภัย

รวมไปถึงแถลงการณ์ของ Amnesty ก็ได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลกัมพูชาเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าทางการกัมพูชาจะต้องตามหาตัววันเฉลิมอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าเขาปลอดภัย และหากพบตัว จะต้องไม่ส่งกลับประเทศไทย เพราะ "เสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร"

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้โลกทวิตเตอร์แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ติดเทรนด์อันดับ 1 ประเทศไทย ซึ่งเรื่องราวของเขานั้นทำให้หลายๆ คนตระหนักได้ถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

Source: https://www.sanook.com/campus/1400895/


มีข้อเสนอแนะ/ข้อมูลเพิ่มเติม?

ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ยังมีอีกมากที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม หากมีข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหายท่านอื่น สามารถติดต่อเสนอแนะได้ที่ [email protected] หรือ Twitter @psuwitndemo


17. วิชิตชัย อมรกุล

เปี๊ยกไม่ใช่คนผิดอะไร เขาเป็นนิสิตนักศึกษาคนหนึ่งที่มองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นแล้วทนไม่ได้ เปี๊ยกจึงโดดเข้าร่วมเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและเป็นธรรมในวันที่ 6 ตุลา แล้วเขาก็เป็นคนหนึ่งในบรรดาเพื่อนผู้เสียสละของเราที่ได้ตกเป็น “เหยื่ออธรรม” อันโหดร้ายป่าเถื่อน….เป็นเหยื่อของการฆ่าหมู่อย่างทารุณใจกลางเมืองหลวงของบ้านเรา ประเทศไทย ซึ่งเรียกตัวเองว่าเมืองพุทธ…..

เผด็จการได้เหยียบร่างของเพื่อนผู้เสียสละจำนวนมากมายและหนึ่งในจำนวนนั้น คือ เปี๊ยก เพื่อเป็นบันไดไปสู่การยึดอำนาจ